ตอนที่1/2 ของขวัญ 9 กล่องจากคนที่กะล่อนที่สุดในจักรวาล
เห็นนโยบายของขวัญ 9 ข้อของเซลส์แมนขายฝันระดับนายกรัฐมนตรีไทยแล้วอดไม่ได้จริงๆ ที่จะต้องมาคุยกันในเรื่องนี้ ถึงผมจะไม่ชอบขี้หน้าของนายอภิสิทธิ์เลยก็ตาม แต่ผมจะพยายามที่สุดที่จะคุยกันอย่างเป็นธรรมที่สุด จะได้ไม่มีท่านใดออกมาตำหนิอีกว่าดีแต่ขัดคอ ซึ่งผมก็ยอมรับว่าจริง...เพราะผมทนเห็นความเหลวไหลของเด็กคนนี้ไม่ได้ และผมต้องขอบพระคุณ คุณ mario และคุณ Khongmear เป็นอย่างมากที่ได้เริ่มประเด็นเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว
อย่าอารัมภบทยาวเลยนะครับ มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า ไล่กันไปที่ละข้อจนครบ 9 ข้อ
ข้อที่ 1. ให้ผู้ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมได้รับสิทธิประโยชน์ เจ็บป่วยเสียชีวิต รวมถึงเบี้ยชราภาพ หรือประชาชนจ่ายเงิน 100-150บาท/เดือน จ่าย 70 บาทรัฐสมทบ 30 บาท หรือ จ่าย 100 บาทรัฐสมทบ 50 บาท กรณีหลังจะประกันกรณีชราภาพด้วย
ดูเผินๆเหมือนจะดีนะครับ เหตุเพราะแต่เดิมที่เรามีโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น เขาคุ้มครองเฉพาะการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ไม่มีเรื่องของการเสียชีวิต, การทุพลภาพ และเบี้ยชราภาพ ถ้ามีประกันตนภาคสมัครใจอย่างนี้ด้วยราคาเท่านี้ แน่นอนว่ารากหญ้าย่อมมีเฮ
แต่ของขวัญนี้จะเป็นจริงได้หรือไม่เราต้องไปดูที่โครงสร้างครับ นายอภิสิทธิ์พูดเองว่า “เราตั้งเป้ามาตลอดว่าควรจะมีคนในระบบประมาณกว่า 20 ล้านคน แต่จะติดที่ตัวเลข 9-10 ล้านคน” ซึ่งก็แปลว่า นายอภิสิทธิ์คาดหวังว่าจะเพิ่มยอดจำนวนผู้ประกันตนจากนโยบายนี้อีกประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นเงินของประชาชนที่จะถูกส่งเข้ามาในระบบประกันสังคมนี้ถึงเดือนละประมาณ 1,000 ล้านบาท หรือปีละ 12,000 ล้าน และรัฐจะต้องอุดหนุนตามที่โม้ไว้อีกเดือนละประมาณ 300 ล้านบาท หรือปีละ 3,600 ล้าน
ซึ่งก็คงต้องตั้งคำถามไว้ตรงนี้ว่า เงินส่วนนี้ทั้งหมดนั้นมันจะเหลือหรือมันจะขาดต่อการให้สิทธิประโยชน์คืนแก่ผู้ประกันตน วิธีการเป็นอย่างไร สิทธิประโยชน์มีอะไรบ้าง ถอนฟันอุดฟันได้มั๊ย จะได้สิทธิ 6 กรณีคือ กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายไม่เนื่องจากการทำงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และชราภาพ เหมือนผู้ประกันตนตาม ม.39 หรือไม่และอย่างไร
รวมทั้งเรื่องของงบประมาณฯ ว่ารัฐจะเอาเงินส่วนไหนมาอุดหนุนถึงปีละ 3,600 ล้าน ทั้งๆที่ประกาศว่าทั้ง 9 ข้อนั้นแยกวาระเร่งด่วนเป็น 3 เรื่อง คือ เศรษฐกิจนอกระบบ ค่าครองชีพ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยจะใช้งบประมาณ 2,000 ล้าน ก็แค่ประกันสังคมอย่างเดียวก็ซัดไปปีละ 3,600 ล้านแล้ว ซึ่งสามพันกว่าล้านนี้จะต้องอุดหนุนตลอดไป
มันเป็นนโยบายแบบ "อรูป" ครับ บอกไม่ได้ว่ามีอะไรเป็นรูปธรรม และถ้าจะบอกว่าวิธีการกับรายละเอียดนั้นจะอธิบายในภายหลัง ผมยิ่งว่าเหลวไหลหนักเข้าไปอีก เพราะการจะทำโครงการอะไรก็ตามจำเป็นที่จะต้องศึกษาความเป็นไปได้หรือ Feasibility Study, ทำแบบจำลอง หรือ Simulation จนเห็นที่มาที่ไปในทุกมิติแล้ว ถึงจะประกาศออกมาเป็นนโยบายให้ภาคประชาชนเขาได้มีข้อมูลในการศึกษาข้อดีข้อเสียและผลกระทบ ทั้งในเรื่องของประสิทธิผล เรื่องของการบริหารจัดการ และเรื่องของงบประมาณ
ถ้าจะจับเอาเฉพาะเรื่องของการจัดการมาดูกันนั้น เราจะย้อนไปดูได้จากปัญหาบุคคลากรในยุคเริ่มต้นของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งขณะนั้นแพทย์ พยาบาล ไม่เพียงพอ รัฐบาลคุณทักษิณแก้ไขด้วยการ ออกมติ ค.ร.ม.วันที่ 9 สิงหาคม 2548 อนุมัติโครงการ 1 อำเภอ 1 แพทย์ จำนวน 3,232 คน ในระยะเวลา 10 ปี เป็นเงิน 3,521 ล้านบาท รวมทั้งอนุมัติงบเพื่อผลิตพยาบาลเพิ่มขึ้นปีละ 1,500 คน เป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 1,728 ล้านบาท
ผมก็คงต้องหมายเหตุเป็นข้อสงสัยว่า รัฐจะเอาบุคคลากรจากไหนมารองรับการดูแลผู้เจ็บป่วยจากโครงการประกันสังคมนี้ทั้งๆที่เราก็ทราบกันดีว่า ทุกวันนี้การที่เราไปใช้สิทธิตาม รพ.ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของเอกชนหรือรัฐบาลก็ดี เราต้องอดทนรอกันค่อนวันเพื่อที่จะตรวจรักษา แล้วการเพิ่มจำนวนผู้ประกันตนเข้ามาในระบบอีกถึง 1 เท่าตัวหรือประมาณ 9-10 ล้านคนนั้น มิคสัญญีในโรงหมอคงระเบิดแน่
ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาจากโครงการ 30 บาทนั้น เราต้องใช้เวลาถึง 10 ปีในการผลิตบุคคลากรออกมารองรับกับจำนวนประชาชน หรือจะดึงเอามาจากโครงการ 30 บาท ?? ซึ่งผมว่ามันจะกลายเป็นความอลเวงให้ผู้ที่ต้องมีหน้าที่บริหารจัดการต้องปวดเศียรเวียนเกล้ากันจนต้องล้มป่วยเสียเอง
ทั้งหมดที่เราได้ยินได้ฟังกันมาสองวันถึงวันนี้นั้น ผมเรียนตรงๆว่าไม่ต่างอะไรกับการขายฝัน และเป็นการบอกไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าฉันอยู่ไม่ถึงเดือน ก.ค.นี้หรือไม่มีฉันในสมัยหน้า ฝันที่ฉันกางออกมาให้พวกแกดูเป็นว่า... เลิก!!
ผมว่าเห็นแก่ตัวเกินไปครับ กับการจับเอาความฝันของประชาชนเป็นตัวประกัน
ข้อที่ 2. การเข้าถึงสินเชื่อเป็นกรณีพิเศษให้กับแท็กซี่และหาบเร่แผงลอย นายกฯเชื่อว่าจะเป็นลูกค้าดีของสถาบันการเงิน เพราะมีรายได้ชัดเจน
อันนี้ก็เหมือนข้อแรกแหละครับ คือฟังดูมีความหวัง แต่ภายใต้ความหวังหรือความฝัน ก็ยังมีเงื่อนไขที่ต้องดูกันอีกว่าจะทำได้อย่างไร ผมเพิ่งได้ฟังอีตากรณ์ รมว.กระทรวงคลังให้สัมภาษณ์เรื่องนี้กับเสี่ยสรยุทธ์ เขาบอกว่าจะให้แท็กซี่หรือมอร์’ไซด์วิน หรือค้าหาบเร่นี่แหละ รวมตัวกันให้ได้เป็นกลุ่มๆละ 10 -15 คน แล้วเอาเงินให้ไปก้อนนึงโดยใช้เงินจาก ธ.ออมสิน เอาไปจัดการกันเอาเอง โดยเขาสมมติว่าออมสินคิดดอกเบี้ยซัก 6% แล้วกลุ่มพี่น้องแท็กซี่+วิน+ค้าหาบเร่ไปจัดสรรให้กู้กันเองในกลุ่มโดยอาจจะทำกำไรกันเองด้วยการคิดดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 8-10
เฮ๊ย!! … คิดได้ไงครับ ทราบกันมั๊ยครับ รถแท็กซี่ 1 คันรวมตัวรถ, ทะเบียนแท็กซี่, ค่ามิเตอร์, วิทยุสื่อสาร และพ่นสี ตกคันละประมาณ 1 ล้านบาท เฉพาะแค่กลุ่มแท็กซี่กลุ่มเดียว ธนาคารออมสินจะต้องเอาเงินออกมาประมาณ 10–15 ล้านบาท และกรุณาอย่าหลงเข้าใจผิดว่าเป็นเงินของออมสิน แต่เป็นเงินที่ประชาชนเขาเอาไปฝากไว้ การที่จะปล่อยกู้ออกไปได้นั้นย่อมต้องมีหลักประกันเพื่อเป็นการรับประกันความเสี่ยงให้กับผู้ฝากเงิน แม้รัฐมนตรีมีอำนาจในการออกกฎหมายประกอบ พรบ.ธนาคารออมสินเพื่อทำเรื่องนี้ก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐมนตรีจะมีอำนาจในการเพิ่มความเสี่ยงให้กับประชาชนผู้ฝากเงินไว้กับธนาคารออมสิน
โครงการนี้ลอกนโยบายกองทุนหมู่บ้านมาอย่างเต็มรูปแบบ แต่มีจุดอ่อนอยู่อย่างมหาศาล ข้อแตกต่างก็คือ กองทุนหมู่บ้านนั้น กรรมการหมู่บ้านจะรู้จักหัวนอนปลายเท้าของผู้กู้เป็นอย่างดีเพราะบ้านแทบจะติดกัน บางคนแอบกิ๊กกันด้วยซ้ำ ฉะนั้นการผิดนัดหรือพริ้วไหวจะเกิดขึ้นได้ยากพอสมควร และนอกจากนั้นยังมีเรื่องของศักดิ์ศรีหน้าตามาเป็นการค้ำประกัน ซึ่งเราจะได้ข่าวอยู่ประปรายว่า มีการทำร้ายตัวเองถึงขั้นฆ่าตัวตายเนื่องจากอับอายที่ไม่สามารถชำระเงินให้กับกองทุนได้ตามกำหนด
แต่กลุ่มเป้าหมายของนโยบายนี้ต่างกัน เราคงทราบดีว่าพี่น้องแท็กซี่หรือมอร์’ไซวินนั้น ส่วนใหญ่มีถิ่นฐานอยู่ต่างจังหวัด และการเข้ามารวมกลุ่มกันนั้นจะเป็นการรู้จักกันในความสัมพันธ์ที่ไม่แข็งแกร่งเหมือนกลุ่มกองทุนหมู่บ้าน ปัญหาง่ายๆที่คิดได้ตอนนี้ก็คือ ถ้ามีใครสักคนเกิดไม่ไหวขึ้นมา แล้วหายตัวไปเฉยๆพร้อมกับรถ ใครจะเป็นคนติดตาม ใครจะเป็นคนเข้าแจ้งความร้องทุกข์และดำเนินคดี และใครที่จะต้องรับผิดชอบต่อเงินฝากของประชาชนที่สูญไปด้วยมาตรการที่หละหลวมและปัดภาระของรัฐบาลนี้
เราต้องตั้งคำถามขึ้นมาว่า ทำไมรัฐบาลไม่ให้ ธ.ออมสินปล่อยกู้โดยตรงกับผู้กู้เป็นรายๆไป แต่กลับมาปล่อยให้กลุ่มของผู้กู้มาจัดการกันเอง คำตอบก็คือรัฐบาลรู้ถึงความเสี่ยงที่ผมพูดถึง และถ้าจะยึดเอาตามเกณฑ์คุณสมบัติมาตรฐานของผู้กู้แล้ว เกือบจะไม่มีผู้กู้รายไหนผ่านได้เลย แต่ด้วยความที่จะต้องออกอะไรมาซักอย่างนึงเพื่อสร้างคะแนนให้กับตัวเองและแบ่งพี่น้องที่มีอาชีพขับรถรับจ้างเสื้อแดงของเราออกไป โดยที่ตัวเองไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย นโยบายบ้าๆเพ้อๆฝันๆอย่างนี้ถึงได้ถูกประกาศออกมา ประกาศทั้งๆที่รู้ว่ามันยากที่จะทำได้
เป็นความฉลาดแกมโกงอย่างนึงของรัฐบาลนี้ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่เข้าใจหาเสียงกับกลุ่มพี่น้องแท็กซี่และพ่อค้าแม่ค้าของเรา เหตุเพราะหากมีใครซักคนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย หรือชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปไม่ได้ของนโยบายนี้ คนๆนั้นจะตกเป็นเป้าให้พี่น้องแท็กซี่และมอร์’ไซวิน รวมทั้งพ่อค้าแม่ขายทั้งหลายได้ชยันโตโพธิยากันเสียผู้เสียคนอย่างแน่นอน ซึ่งหากพี่น้องของเราจะกรุณาเฉลียวใจซักนิดว่ากำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือหาคะแนนเสียงจากฝันและกำลังถูกแบ่งแยกออกไปจากกลุ่มเสื้อแดง ผมคิดว่า พี่น้องของเราคงจะนั่งหัวร่อไปและเคืองรัฐบาลนี้ไปพร้อมๆกัน
ถ้าถามผมว่า ... แล้วจะไม่ช่วยพี่น้องที่หาเช้ากินค่ำของเราให้มีชีวิตที่ดีขึ้นบ้างเหรอ หรือประมาณว่าดีแต่ติและขัดคอโดยไม่คิดจะนำเสนอ ผมก็จะขอถือโอกาสนำเสนอซะเลย
ถ้าเลือกผมเป็นนายกรัฐมนตรีนะ ผมก็จะไม่ใช้เงินจากออมสินหรอก แต่ผมจะออกพันธบัตรระยะสั้นอายุ 5 ปี ดอกเบี้ยลอยตัวเท่ากับ MOR+1 ตั้งเป็นกองทุนรากหญ้าขึ้นมา
สำหรับพี่น้องชาวแท็กซี่และมอร์’ไซวินนั้น เราจะใช้วิธีเดียวกันกับอู่รถแท็กซี่ทั่วไปเขาทำกัน คือให้คิดเสมือนว่าเช่ารถจากกองทุนนี้ไปขับโดยมีอู่หรือศูนย์อยู่ทั่วทุกเขตในกรุงเทพฯ เมื่อเช่าได้ครบ 5 ปี รถจะตกเป็นของผู้ขับไปเลย โอนกรรมสิทธิ์ให้ไปเลย โดยผมจะไม่มานั่งบวกดอกเบี้ยเพิ่มเหมือนที่รัฐบาลกำลังจะยุให้พี่น้องของเรารีดเลือดกันเอง
วิธีนี้จะจะสามารถกรองคนที่ตั้งใจประกอบอาชีพนี้อย่างจริงจังออกจากประเภทฉาบฉวยได้ ถ้ามีใครซักคนที่ไม่ไหวขับไปได้สองปีแล้วเปลี่ยนใจอยากจะไปทำอาชีพอื่น รถของเขาก็จะถูกนำออกมาปล่อยเช่าต่อไป ซึ่งหากผู้เช่าใหม่เช่าขับไปอีกสามปีจนครบกำหนดเดิมที่ผู้ขับคนแรกทำไว้ รถคันนั้นก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเขาไปในที่สุดด้วยราคาย่อมเยาตามอายุของรถ
ไม่ต้องมาผูกมัด ไม่ต้องมานั่งระแวง ไม่เสี่ยงกับหนี้สูญ และเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ขับรายใหม่ๆ ได้มาลองทำอาชีพนี้ดู ซึ่งรถหนึ่งคันอาจจะสามารถช่วยให้พี่น้องนักขับของเราได้หาเลี้ยงชีพได้ 2-3 คน ในรอบ 5 ปี ไม่สูญเปล่าไปกับนโยบายขายฝัน ถ้าเป็นรถมอร์’ไซ ก็อาจจะร่นเวลาเข้ามาเป็น 2-3 ปี แล้วแต่ความเหมาะสม
ส่วนพ่อค้าแม่ขายนั้น ไม่น่าจะมีปัญหาเท่ากับพี่น้องนักขับ เหตุเพราะสถานที่ประกอบการค้าขายค่อนข้างเป็นหลักแหล่ง และวงเงินไม่สูงเท่ากับพี่น้องนักขับ กลุ่มของเรานี้จะดำเนินการยังไงก็ตามสะดวกเถอะ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
ข้อที่ 3. และ ข้อที่ 4. ขึ้นทะเบียนมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จัดทำบัตร ให้เบอร์เสื้อวิน จยย. แจกหมวกนิรภัย ปรับปรุงวิน การทำบัตรจะนำไปสู่การพัฒนาสวัสดิการ ... เพิ่มจุดผ่อนปรนให้หาบเร่แผงลอย หวังลดรายจ่ายนอกระบบและจะจัดโซนการค้าให้เป็นระบบระเบียบ แต่จะไม่กระทบผู้ใช้ทางเท้า
แม่ม ... ลอกพี่สมัครมาทั้งดุ้นเลย สมัยที่พี่หมักทำขึ้นมาก็ดีอยู่พอสมควรทีเดียว แต่ผมจะขอย้ำตอกใส่กะโหลกของคนในรัฐบาลนี้ว่า มันเริ่มมาเละเทะเพราะขาดการเอาใจใส่มาในสมัยผู้ว่าฯอภิรักษ์นี่แหละ ยิ่งมาถึงรุ่นสุขุมพันธ์ยิ่งเละเป็นอ้วกหมาเลย ตอนนี้เขากลับไปซื้อเสื้อกั๊ก-เช่าเสื้อวินกันเหมือนเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ทั้งหมดนี่คือความไม่เอาไหนของคนจากพรรคประชาธิปัตย์ตลอด 8 ปีที่ผ่านมากับตำแหน่งผู้ว่าฯกรุงเทพ มาถึงตอนนี้ยังกล้าที่จะเอาหน้า กะล่อนทำนองว่าเป็นของขวัญ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นแค่การประจานข้อบกพร่องและความล้มเหลวของพรรคพวกตัวเอง รวมทั้งการขาดการเอาใจใส่ในหน้าที่ของคนที่อุตริเสนอตัวเข้ามาทำงาน แต่มัน ... ไม่ยอมทำงาน + ทำงานไม่เป็น
วันนี้ผมพูดมามากแล้ว ที่จริงแล้วอยากจะต่อให้จบทั้ง 9 ข้อ โดยเฉพาะในข้อ 5. เกี่ยวกับกองทุนน้ำมันและ ข้อ 6. เกี่ยวกับค่าไฟฟ้า แต่วันนี้ผมเหนื่อยแล้ว และมันยาวเกินไปแล้ว ผมขอยกเอาไปคุยต่อในตอนหน้าละกันครับถ้ายังไม่เบื่อจะอ่าน
ซึ่งเรื่องของก๊าซ LPG กับค่าไฟฟ้านี้ มันทุเรศและผิดพลาดมากกว่าทั้ง 4 ข้อแรกนี้รวมกันเสียอีก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการจับความฝันของประชาชนเป็นตัวประกันชัดๆ ซึ่งไหนๆก็ไหนๆแล้ว น่าจะประกาศนโยบายให้มันแฟนตาซีไปเลย
จะให้เด็กไทยทุกคนตั้งแต่ชั้นประถมไปจนถึงปริญญาตรีได้ขึ้นยานกระสวยอวกาศออกไปเที่ยวดวงจันทร์กันฟรีๆ 15 ปี!! จะตอแหลทั้งทีต้องหน้าด้านให้มันสุดๆเลย รักจะกะล่อนก็ต้องกะล่อนที่สุดในจักรวาล
ยังไม่จบ มีต่ออีกจ้ะ
By: