ตอนที่2/2 (เสนอเป็นตอนจบ) ของขวัญ 9 กล่องจากคนที่กะล่อนที่สุดในจักรวาล
ความจริงผมตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้ต่อจากตอนที่ 1 เมื่อสองวันที่แล้ว แต่ดันมามีงานยุ่งเลยต้องเลื่อนมาเขียนเอาวันนี้ หวังว่ายังจะคงทันกระแสนะครับ
วันนี้ผมจะมาชวนคุยเรื่องของขวัญสัปปะรังเคชิ้นต่อไปของนายอภิสิทธิ์เกี่ยวกับก๊าซ LPG ซึ่งผมจะพยายามมองยังไง หรือฟังยังไง ผมก็ยังไม่เห็นว่ามันจะเป็นของขวัญไปได้ เนื่องจากเขาบอกว่าเขาจะยังคงตรึงราคาก๊าซ LPG ไว้ให้กับการใช้ในครัวเรือนและการขนส่ง ส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้น เขาจะปล่อยลอยตัวตามราคาจริงของตลาด
ทั้งหมดนี่คือข่าวร้ายนะครับ อย่าหลงเพลินกับลีลากะล่อนทองคำขาวระดับหัวหน้าพรรคอย่างนายอภิสิทธิ์ ที่ผมพูดอย่างนี้ก็เพราะเหตุว่า เรากำลังจะได้พบกับต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่แพงขึ้นเนื่องจากการใช้พลังงานจาก LPG หลายคนอาจไม่ทราบว่า โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆโดยเฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่ใกล้กับโรงแยกก๊าซนั้น เขาปรับเปลี่ยนระบบการใช้พลังงานมาเป็นก๊าซ LPG กันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายอุดหนุนราคาก๊าซ LPG ในอดีต
ดังนั้นหากโรงงานต่างๆเหล่านี้ต้องใช้ก๊าซในราคาที่สูงขึ้น ผลที่ตามมาก็อย่างที่รู้ๆกันอยู่ว่าราคาต้นทุนของสินค้านั้นย่อมจะต้องสูงขึ้นตามมาอย่างแน่นอน และถามว่าโรงงานหรือผู้ผลิตเหล่านี้เขามีทางเลือกอื่นๆที่ดีกว่ามั๊ย เราก็ต้องกลับไปมองก่อนว่า แหล่งพลังงานที่ใช้กันในการผลิตภายใต้ระบบอุตสาหกรรมนั้น มันจะมีให้เลือกก็แค่ไม่กี่อย่าง เช่น ถ่านหินซึ่งมีมลพิษสูงและยังมีต้นทุนในการติดตั้งระบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่สูงอีกด้วยเช่นกัน, น้ำมันเตา, น้ำมันดีเซล เป็นต้น ซึ่งแต่ละอย่างที่เราเห็นกันนี้ ล้วนมีต้นทุนสูงกว่า LPG ทั้งสิ้น
จึงค่อนข้างจะแน่ใจได้ว่า ในระบบการผลิตที่ใช้ LPG เป็นเชื้อเพลิงในปัจจุบันนี้ ก็ยังคงจะต้องใช้ LPG ต่อไปเหมือนเดิม สิ่งที่ตามมาก็คงจะเป็นอย่างที่พวกเราทราบกันดี คือราคาสินค้าต้องสูงขึ้นแน่นอน ดังนั้นเรามาเข้าใจเสียใหม่นะครับว่า นายอภิสิทธิ์ไม่ได้กำลังจะทำให้ราคาก๊าซในครัวเรือนนั้นถูกลง แต่เขากำลังจะทำให้ราคาสินค้าและบริการ รวมทั้งค่าครองชีพสูงขึ้นต่างหาก ซึ่งสุดท้ายก็จะกลายมาเป็นภาระที่ตกอยู่กับประชาชน
แต่เรื่องนี้มีคนที่ได้ประโยชน์ครับ คนที่รับประโยชน์อย่างแน่นอนก็คือรัฐบาล โดยรัฐบาลจะสามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งจากราคาก๊าซเองและจากต้นทุนสินค้าหรือบริการที่แพงขึ้นจากการเลิกอุดหนุนราคา LPG
คำถามที่เราควรจะสงสัยกันต่อไปก็คือ ... แล้วรัฐบาลได้ภาษีเพิ่มไปเท่าไหร่
ผมมีตารางการใช้ก๊าซ LPG ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระยะเวลาย้อนหลังไป 3 เดือนนับจากวันนี้ ลองดูที่ภาพข้างล่างนี้นะครับ
เราจะเห็นได้ว่า กลุ่มของอุตสาหกรรมที่ใช้ LPG เป็นเชื้อเพลิง เมื่อรวมกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเองแล้ว จะมีปริมาณการใช้ทั้งสิ้นใน 1 เดือนเท่ากับ 223,110 ตัน ในโครงสร้างราคาของก๊าซ LPG นั้น จะมีส่วนที่ได้รับการอุดหนุนอยู่ 2 ส่วน คือ
1. เงินอุดหนุนที่มาจากกองทุนน้ำมัน ซึ่งอุดหนุนมาตันละ 2,530.-บาท หรือ กก.ละ 2.53 บาท
2. เงินอุดหนุนค่าขนส่งก๊าซจากซาอุดิอาระเบียมาถึงเมืองไทยอีก ตันละประมาณ 500.-บาท
ซึ่งเมื่อนำเงินอุดหนุนทั้งสองส่วนนี้มารวมกัน ก็จะเห็นว่า LPG ได้รับการอุดหนุนรวมแล้วตันละ 3,030 บาท เมื่อนำไปคูณกับปริมาณการใช้ LPG ของภาคอุตสาหกรรมซึ่งตกเดือนละ 223,110 ตัน เราก็จะได้จำนวนเงินที่ถูกยกเลิกการอุดหนุนทั้งสิ้นรวมแล้ว 676 ล้านบาทเศษ ซึ่งพูดง่ายๆก็คือ ภาคอุตสาหกรรมจะต้องจ่ายเงินซื้อ LPG แพงขึ้นอีกเดือนละ 676 ล้านบาทนั่นเอง และเมื่อต้นทุนก๊าซสูงขึ้น รัฐบาลก็จะเก็บภาษี VAT ได้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยอีก 7% จาก 676 ล้านบาท ซึ่งคิดคร่าวๆ ก็ตกเดือนละ 47.32 ล้าน
เฮ๊ย!! นี่มันยังกล้าพูดได้ว่าเป็นของขวัญ ทั้งๆที่เป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนล้วนๆ
และผมขอฝากไว้ให้พวกเราได้ติดหูติดตากันอย่าได้ลืมนะครับว่า รัฐบาลไม่ได้ทำให้ก๊าซ LPG ถูกลง แต่ในทางตรงข้าม รัฐบาลกำลังจะทำให้สินค้าและบริการที่มีฐานการผลิตด้วยแหล่งพลังงานสะอาดอย่าง LPG นี้แพงขึ้น เป็นสาเหตุของค่าครองชีพที่สูงขึ้น เป็นสาเหตุของต้นทุนสินค้าส่งออกที่แพงขึ้นซึ่งเป็นการซ้ำเติมผู้ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นคำรบที่สอง หลังจากโดนกระหน่ำมาแล้วจากค่าเงินบาทที่แข็งตัว โอกาสทางการแข่งขันด้านราคาในตลาดโลกกำลังจะลดน้อยลงไปอีก รวมทั้งยังจะกระทบถึงอัตราเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
เบื้องหลังเรื่องนี้ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลยครับ ปัญหามันมาจากการที่รัฐบาลต้องการที่จะรักษาระดับราคาของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเอาไว้ไม่ให้เกินลิตรละ 30.-บาท ซึ่งหากคิดจากราคาน้ำมันดูไบในปัจจุบันนี้ รัฐบาลจะต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเข้ามาอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลประมาณเดือนละ 600–650 ล้านบาท และกองทุนน้ำมันในขณะนี้ไม่ค่อยจะเหลือเงินอยู่เท่าไหร่แล้ว มีทางเดียวที่จะยังคงรักษาราคาน้ำมันดีเซลได้ ก็โดยการยกเลิกการอุดหนุน LPG เพื่อนำเงินส่วนนี้มาอุดหนุนดีเซลแทน เท่านั้นจริงๆครับ
แต่จะด้วยความฉลาดล้ำที่ผมคิดว่าใกล้เคียงกับความตลบตะแลงก็คือการพูดให้จากไม่ดีกลายเป็นดีไปได้ ประชาชนที่ไม่รู้ก็หลงดีใจ นึกว่าซานตาคลอสลอยลงมากลางวันแสกๆ ทั้งๆที่จริงๆแล้วเป็นแค่ความตลบตะแลงของผู้ชำนาญเท่านั้นเอง และที่ต้องขอชมจริงๆก็คือ นอกจากจะพูดให้เลวกลับเป็นดีได้แล้ว การพูดครั้งนี้ยังทำให้รัฐบาลได้ภาษี VAT มากขึ้นอีกถึงเดือนละเกือบ 50 ล้านอย่างที่ผมได้เล่าให้ฟังแล้ว
นี่ครับ ... ต้องอย่างนี้ รักจะเป็นคนเลว คุณต้องเลวให้ได้ครบเครื่องอย่างนี้
ช่วงนี้ผมขอพักซักกะเดี๋ยว อีกซักครู่หลังจากผมพักผ่อนอาบน้ำอาบท่าประแป้งแล้ว ผมจะมาเล่าให้ฟังถึงเรื่องฟรีค่าไฟฟ้า 90 หน่วย ว่ามันบัดซบตลบตะแลงไม่แพ้กันเลย
* * * * *
ตอนที่2/2 (เสนอเป็นตอนจบ) ของขวัญ 9 กล่องจากคนที่กะล่อนที่สุดในจักรวาล
กระทู้นี้จะเป็นตอนจบของของขวัญจากท่านนายกฯ ซึ่งผมจะว่าด้วยเรื่องฟรีค่าไฟครับ
ก่อนที่จะเข้าไปคุยถึงเรื่องอื่น ผมขอยกตัวเลขต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้ามาให้ดูกันก่อน โดย กฟผ.เขาจำแนกไว้อย่างนี้ครับ
ถ่านหินแม่เมาะ 2.07 บาท
นิวเคลียร์ 2.08 บาท
ถ่านหินนำเข้า 2.45 บาท
พลังงานความร้อนก๊าซ 2.80 บาท
ไฟฟ้าชีวมวล 3.00-3.50 บาท
พลังงานความร้อนน้ำมันเตา 5.32 บาท
และราคารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนในเดือน กย.-ธค.2553 กฟผ.เขารับซื้อในราคาหน่วยละ 2.3159 บาท
ถ้าเราย้อนกลับขึ้นไปดูปริมาณรวมของ 9 ล้าน 1 แสนครอบครัวที่ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 90 หน่วย (อันนี้เป็นตัวเลขของท่านนายกฯ) เราก็จะเห็นว่า ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ครัวเรือนเหล่านั้นใช้ในแต่ละเดือนรวมแล้วเท่ากับ 819 ล้านหน่วย คิดเป็นราคาต้นทุนที่สมมติว่าต่ำที่สุดคือต้นทุนจากพลังงานถ่านหิน ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นค่าไฟฟ้านี้ จะอยู่ที่เดือนละ 1,695 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จะถูกผ่องถ่ายมาให้คนชั้นกลางขึ้นไปจนถึงระดับอุตสาหกรรมเป็นผู้รับภาระแทน
ผมก็สงสัยอยู่ว่า มันอะไรกันวะ
ผมไม่รังเกียจนะถ้าจะต้องจ่ายอะไรบางอย่างแพงขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนที่ขาดแคลนในสังคมเดียวกันให้อยู่รอดได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผมพร้อมที่จะถูกใช้ให้เป็นเครื่องมือหาเสียงเพื่อกลบเกลื่อนประเด็นชั่วๆทางการเมืองและคดีอาญาที่คนในรัฐบาลนี้ได้สร้างเอาไว้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ตามผมมาดูกันว่า ไอ้ที่รัฐบาลมันอ้างว่าจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านนั้น มันบรรเทาได้จริงแค่ไหน
ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 90 หน่วยนั้น ถ้าคิดเป็นค่าไฟที่ต้องจ่ายให้การไฟฟ้าในแต่ละเดือน ก็จะต้องคิดด้วยอัตราก้าวหน้าตามประเภทที่ 1.1 ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน อย่างนี้ครับ
5 หน่วย (หน่วยที่ 1-5) เป็นเงิน 0.00 บาท
10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 6-15) หน่วยละ 1.3576 บาท
10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่16-25) หน่วยละ 1.5445 บาท
10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 26-35) หน่วยละ 1.7968 บาท
65 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 36-100) หน่วยละ 2.1800 บาท
ครอบครัวที่ใช้ไฟฟ้า 90 หน่วย ก็จะคำนวณค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนได้เท่ากับ 166.90 บาท เอ้า!! .. ตีซะเดือนละ 167 บาทตัวเลขกลมๆ กรุณาจำไว้นะครับว่าพี่น้องของเราจะประหยัดในส่วนของค่าไฟฟ้าไปเดือนละ 167 บาท
คำถามก็คือ ไอ้ 167 บาทนี้ มันช่วยพี่น้องของเราได้แค่ไหนฟระ และผลที่จะสะท้อนกลับมาหาประชาชนที่ได้รับการยกเว้นค่าไฟฟ้านี้ มันฟรีจริงๆหรือ
คำตอบนั้นยังไม่มีตัวเลขแบบเป๊ะๆ เพราะครม.ยังไม่ได้ประกาศอัตราค่าไฟฟ้าชุดใหม่ตามนโยบายนี้ แต่ในภาพรวมแล้ว ต้นทุนไฟฟ้าที่ยกเว้นให้กับพี่น้องจำนวน 1,695 ล้านบาทนั้นจะต้องเข้าไปเป็นต้นทุนการผลิตและบริการอย่างแน่นอน ซึ่งผู้ผลิตหรือนักอุตสาหกรรมจะไม่ได้เป็นผู้รับผลกระทบ เหตุเพราะเมื่อมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เขาก็ต้องเพิ่มราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นด้วยเป็นเรื่องปกติ ผู้ที่จะต้องได้รับผลกระทบโดยตรงและเต็มๆก็คือประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ คนชั้นรากหญ้าและ คนชั้นกลาง
คนชั้นกลางจะถูกกระทบในชั้นแรกโดยตรงจากค่ากระแสไฟฟ้าที่ต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นจากนโยบายนี้ (จะเท่าไหร่ผมไม่ทราบ เพราะยังไม่มีราคาออกมา)
และผลกระทบที่เป็น After Shock ชั้นที่สองนั้นคือราคาสินค้าและค่าครองชีพที่สูงขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต นอกจากนั้นยังโดน Final Shock เป็นดาบสามด้วยภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกาะติดเพิ่มเติมมากับราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ส่วนชาวรากหญ้าที่ได้รับการยกเว้นค่าไฟฟ้าเดือนละ 167.- บาทนั้น ก็จะถูกเรียกกลับคืนไปกับราคาสินค้าและบริการ รวมทั้งภาษีที่เพิ่มขึ้นการจากหาเสียงของรัฐบาลนี้ด้วยเช่นกัน และโปรดเข้าใจด้วยว่าทุกๆ 2,385 บาทที่ครอบครัวเหล่านี้ต้องจ่ายเป็นค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นใน 1 เดือน นั่นก็คือภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 167 บาทที่ท่านได้ถูกรัฐบาลเรียกเก็บกลับไปแล้วจากการใช้สอยของท่าน
เป็นอันว่าไอ้เจ้าค่าไฟฟ้าที่ได้รับการยกเว้นให้เดือนละ 167 บาทนั้น มันไม่ได้ฟรีอย่างที่รัฐบาล ... โดยเฉพาะท่านนายกฯกำลังพยายามโน้มน้าวให้เราเชื่อกันอย่างนั้น ผู้ที่แบกภาระในขั้นสุดท้ายนั้นก็คือพวกเรานั่นเอง เพราะไม่มีอะไรที่จะได้มาฟรีๆโดยไม่มีต้นทุน
เว้นแต่ภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ที่รัฐบาลได้มาฟรีๆจากความขัดสนของประชาชน
ผมขอสรุปอย่างนี้ว่า ไม่ว่าจะเป็นของขวัญชิ้นไหนก็ตาม ล้วนแต่แฝงด้วยเล่ห์ทั้งสิ้น ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนเจือปนอยู่เลยแม้แต่ธุลีเดียว แต่ผมอยากจะให้พวกเรากรุณาเปลี่ยนทรรศนะคติเสียใหม่ว่า ทุกวันนี้รัฐบาลไม่ได้ซื้อเสียงนะครับ แต่เป็นพวกเราต่างหากที่เป็นคนจ่ายเงินเพื่อซื้อเสียงให้รัฐบาล
ก่อนจะจบกระทู้นี้ ผมขอติงของขวัญชิ้นสุดท้ายซึ่งผมคิดว่าเป็นความน่าสมเพชอย่างถึงขีดสุดแล้วสำหรับภาวะความเป็นผู้นำของนายกฯ นั่นคือการตั้งเป้าจะลดอาชญากรรมลงให้ได้ 20% ซึ่งเป็นวิธีที่ปัญญาอ่อนได้ใจผมมาก เหตุเพราะที่ถูกแล้ว รัฐบาลโดย สตช. จะต้องมีเป้าหมายในการลดอาชญากรรมให้กลายเป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ไม่ใช่ให้เหลืออีก 80%
ผมจะเข้าใจได้มั๊ยว่าท่านนายกฯกำลังหมายความว่า ต่อจากนี้ไปผู้หญิงที่ถูกฉุดคร่าข่มขืนจะลดลงจาก 100 คนเหลือ 80 คน หรือยาบ้าจะลดลงจาก 100 ล้านเม็ดลงเหลือ 80 ล้านเม็ด หรือแม้กระทั่งอาชญากรรมของรัฐบาลเองที่ฆ่าประชาชนไปในปีที่แล้ว 97 คน(เกือบ100) ปีนี้จะฆ่าเพียง 80 คน
.. ผมไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนที่หน้าด้านและเห็นแก่ตัวได้เท่านี้มาก่อนเลยจริง ๆ ..
จบจ้ะ
By: